การทอผ้าฝ้าย

การทอผ้าฝ้าย
การทอผ้านับการทอผ้าฝ้าย :: 03/12/2007
เป็นวัฒนธรรมสำคัญของล้านนามาแต่อดีต ที่ได้มีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยผู้หญิงจะมีบทบาทในการทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน นอกจากประโยชน์ใช้สอยด้านเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครอบครัวแล้ว ผ้าทอยังสะท้อนถึงบุคลิกลักษณะของหญิงชาวล้านนาว่าเป็นผู้มีความละเอียดอ่อน มีความมุ่งมั่นพยายาม จากฝีมือการทอผ้าที่ประณีตสวยงาม อำเภอป่าซางเป็นอำเภอหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในเรื่องของการทอผ้าฝ้ายที่งดงามเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา
แต่เมื่อมีการนำเครื่องจักรซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทอผ้าแทนกี่ ทำให้สามารถทอได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น และยังสามารถทอเป็นลวดลายต่างๆ ที่การทอด้วยกี่ไม่สามารถทำได้ ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงไม่มีเวลาในการผลิตของใช้ในครัวเรือน การไปทำงานนอกบ้านทำให้ผู้หญิงมีความสะดวกในการซื้อหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูปตามสมัยนิยมได้ง่าย ทำให้ผ้าฝ้ายทอมือซบเซาลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูและพัฒนาผ้าฝ้ายทอมือ ทั้งการทอผ้าพื้น และการทอเป็นลวดลายต่างๆ ให้มีสีสัน ลวดลาย และนำผ้าทอไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ของใช้ ของฝาก ฯลฯ เป็นที่ต้องการของคนทั่วไปจึงมีการส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ กลายเป็นตลาดที่ใหญ่สามารถสร้างรายได้สู่ครัวเรือนได้มาก ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สั่งสมมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไปด้วย
วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า
1. ฝ้าย
ฝ้ายที่ใช้ทอปัจจุบันไม่ได้ปลูกเอง แต่จะซื้อมาจากเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งฝ้ายที่ย้อมสีสำเร็จและฝ้ายที่ต้องนำมาย้อมสีเอง
2. กี่ทอผ้า
การทอผ้าฝ้ายของกลุ่มสตรีบ้านเหล่าปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการทอด้วยกี่กระตุก เนื่องจากเป็นการทอผ้าที่มีหน้ากว้าง การทอด้วยกี่กระตุกช่วยทำให้การทอผ้ารวดเร็วขึ้น โดยเพิ่มปริมาณความยาวของผ้าได้มากกว่าการทอผ้าที่พุ่งกระสวยด้วยมือ กี่กระตุกที่พบในปัจจุบัน มี 2 ขนาด คือ กี่ขนาดใหญ่ใช้ทอผ้าที่มีความกว้างมาก เวลาทอต้องใช้คน 2 คนช่วยกันพุ่งกระสวยไปมา ส่วนกี่ขนาดที่สองเป็นกี่ขนาดเล็กซึ่งใช้แรงงานของคนทอเพียงคนเดียว
กี่แต่ละหลัง มีส่วนประกอบหลายอย่างซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกันทั้งหมดในขณะทอผ้าส่วนประกอบต่างๆ ดังกล่าวได้แก่
2.1 ฟืม
ทำจากท่อนไม้ยาวพอสมควรตามขนาดของกี่ มีด้ามสำหรับจับเพื่อใช้ดึงให้ฟืมดันฝ้าย
เส้นพุ่งให้ติดกันแน่นเป็นผืน
2.2 เขาฟืม
มีลักษณะเป็นท่อนกลมๆ ยาวๆ ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ไม้ไผ่ ท่อพลาสติกหรืออลูมิเนียม จำนวนของเขาฟืมจะขึ้นอยู่กับจำนวนตะกอ ถ้าผ้าที่ทอมี 2 ตะกอ จะใช้เขาฟืม 2 เขา ถ้ามี 4 ตะกอจะมี 4 เขา เขาฟืมจะอยู่ด้านหลังของฟืม ต่อกับ ไม้เหยียบ ด้านล่าง ใช้ เชือกโยงกับเขาฟืม ซึ่งต่อเนื่องกับไม้หาบฟืมด้านบน เขาฟืมมีไว้สำหรับสลับด้ายเส้นยืน เพื่อสอดกระสวยด้ายเส้นพุ่งเข้าไปก่อนการตอกด้วยฟืม
2.3 ไม้เหยียบ
ทำจากไม้ไผ่ หรือไม้สัก ขนาดกว้างประมาณ 2-3 นิ้ว ความยาวประมาณ 2-3 ฟุตสำหรับให้ผู้ทอเหยียบในขณะที่ทอ เพื่อสลับเส้นฝ้าย ไม้เหยียบนี้จะอยู่ด้านล่างของกี่ เมื่อเหยียบไม้แล้วจะช่วยยกเส้นฝ้ายขึ้นลงเป็นลายขัดกัน จำนวนของไม้เหยียบจะขึ้นอยู่กับจำนวนเขาฟืมที่กำหนดลวดลายที่จะทอ ซึ่งเรียกว่า ลาย 2 ตะกอ ลาย 4 ตะกอ
2.4 เขี้ยวหมา หรือฟันปลา
ทำจากไม้จริง ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก เลื่อยเป็นซี่ๆ คล้ายฟันของเลื่อย ใช้สำหรับแยกฝ้ายเส้นยืนไม่ให้พันกัน และง่ายต่อการคลี่ฝ้ายออกเป็นผืน
2.5 ไม้หาบเขา และไม้หาบฟืม
ทำจากไม้ไผ่หรือไม้สักขนาดใหญ่ พาดขวางอยู่บนคานของกี่ในแนวเดียวกับเขาและฟืม โดยใช้เชือกผูกโยงกับเขาและฟืม เพื่อยึดกับกี่ให้มีความแข็งแรง เนื่องจากการทอใช้แรงในการดึงเขาขึ้นลง และดึงหรือตอกฟืม เข้าออกในแนวนอน ในอดีตหลังจากการทอผ้าแล้วเสร็จในแต่ละวัน เจ้าของผลงานต้องนำผ้าที่อยู่ระหว่างการทอ พร้อมอุปกรณ์การทอจากกี่ทอผ้าทั้งชุดขึ้นไปเก็บบนเรือน เพื่อป้องกันการสูญหายจากการขโมยผ้า โดยใช้วิธีถอดอุปกรณ์การทอทั้งหมดจากกี่ทอผ้า รวมกันไว้เป็นชุด หาบไว้บนไหล่แล้วเดินขึ้นเรือน จึงเป็นชื่อเรียกของไม้หาบเขา หาบฟืม
2.7 มะล้อ
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกระตุกและดันกระสวยให้พุ่งไปมา ซึ่งประกอบด้วยไม้โยกขึ้นลง ซึ่งติดอยู่กับคานที่พาดขวางบนกี่ ไม้โยกมีการถ่วง 2 ข้าง มีแกนของไหมล้อซึ่งใช้เป็นที่จับสำหรับกระตุกไม้โยกขึ้นลง โดยผูกอยู่ข้างที่ผู้ทอมีความถนัด
2.8 หัวนก
หัวนก เดิมใช้ไม้ เพราะเหล็กหายาก ปัจจุบันใช้รอกซึ่งหาได้ง่าย มีความทนทาน แต่ละกี่จะใช้หัวนก 2 อัน ผูกไว้โยงกับด้านซ้าย-ขวาของเขาฟืมทั้งสองอัน และคล้องกับไม้หาบฟืมด้านบน มีความสัมพันธ์กับไม้เหยียบ คือ เมื่อเหยียบไม้เพื่อลดเขาฟืมอันหนึ่งลง เชือกที่คล้องผ่านรอกหรือหัวนกจะดึงลงพร้อมกับการยกเขาฟืมอีกอันหนึ่งขึ้น เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างด้ายเส้นพุ่งที่สลับกันสำหรับพุ่งกระสวยผ่านเข้าไปได้
2.8 กระสวยและหลอดไม้
กระสวย เป็นอุปกรณ์ลักษณะยาวรี เจาะเป็นช่องตรงกลางเพื่อใส่หลอดไม้พันฝ้ายเจาะรูด้านข้างขนาดให้เส้นฝ้ายลอดผ่านได้ ปลายของกระสวยทั้ง 2 ข้างอาจมนหรือแหลมตามลักษณะการใช้งาน ถ้าหัวมน เอาไว้ใช้สำหรับกี่กระตุก ส่วนหัวแหลมไว้สำหรับพุ่งด้วยมือ ในขณะที่ทอผู้ทอจะพุ่งกระสวยไป-มา เพื่อให้เส้นฝ้ายที่พุ่งไป-มาไปขัดกับฝ้ายที่เป็นเส้นยืนหลอดไม้ ใช้สำหรับพันฝ้ายเส้นพุ่ง ในขณะใช้งานจะนำไปเสียบกับกระสวย หลอดไม้ทำจากปล้องไม้ไผ่บง ซึ่งมีความหนาและทนกว่าไม้ไผ่ทั่วไป มีรูทะลุตลอดปล้อง สำหรับเสียบเหล็กเพื่อยึดกับกระสวย
2.9 ไม้สะป้าน สำหรับพันเนื้อผ้าที่ทอเสร็จแล้ว
3. เฟือขอ
มีลักษณะเป็นโครงสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจทำจากไม้หรือเหล็กก็ได้ โดยปลายทั้ง 2 ข้างตามแนวนอนมีด้ามเล็กๆ ยึดติดอยู่เป็นระยะๆ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียงด้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ
4. กงกว๊าง
เป็นอุปกรณ์สำหรับคลี่เส้นฝ้าย เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาปั่นใส่กระป๋อง
5. กระป๋องหรือหลอดฝ้ายขนาดใหญ่
กระป๋องหรือโครงไม้ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้พันฝ้าย
6. เพียนปั่นด้าน
เพียนปั่นด้ายเข้าหลอด หรือกงปั่นหลอดด้าย ปัจจุบันทำจากซี่และวงล้อรถจักรยาน ใช้สำหรับกรอเส้นฝ้ายที่เป็นเส้นพุ่งใส่หลอดไม้ไผ่ ที่จะนำไปใส่ในกระสวย
7. บันไดลิง
บันไดลิงในอดีตมีลักษณะเป็นเถาวัลย์ที่มีลักษณะโค้งงอเหมือนบันได ปัจจุบันบันไดลิงหายากจึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ตอกตะปูห่างกันประมาณ 3 นิ้ว โดยดัดตะปูให้โค้งงอสำหรับเกี่ยวเส้นฝ้ายไว้ และยังคงใช้ชื่อเรียกดังเช่นอดีต
ขั้นตอนการทอผ้า
การทอผ้าเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน โดยเฉพาะการทอลวดลาย ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน แต่ก็พอกล่าวถึงโดยสังเขปได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
นำฝ้ายเป็นไจมาคลี่ออกใส่กงกว๊าง เพื่อนำไปพันใส่บ่าหลุกกวักฝ้าย แล้วนำมาขินหรือปั่นใส่กระป๋องหรือหลอดไม้ขนาดใหญ่ การปั่นฝ้ายใส่กระป๋องถ้าต้องการเส้นฝ้ายที่มีเส้นใหญ่อาจจะปั่นครั้งละ 2-3 ไจให้เส้นฝ้ายมารวมกัน
ขั้นตอนที่ 2
นำกระป๋องที่มีเส้นฝ้ายพันอยู่ ไปเรียงตามลำดับสีของฝ้ายเส้นยืนตามลวดลายที่จะทอโดยนำมาเรียงครั้งละประมาณ 40 กระป๋อง จะได้ฝ้ายเส้นยืนครั้งละ 40 เส้น แล้วนำแต่ละเส้นไปคล้องกับบันไดลิง เพื่อไม่ให้เส้นฝ้ายพันกัน และขึ้นเฟือขอต่อไป
ขั้นตอนที่ 3
นำฝ้ายเส้นพุ่งจากบันไดลิงมาขึ้นเฟือขอ ซึ่งเฟือขอจะทำหน้าที่สำหรับเรียงฝ้ายเส้นยืนตามความยาวที่ต้องการ และทำการสลับเส้นยืนสำหรับใช้กับตะกอ เส้นขึ้น เส้นลงด้านล่างของเฟือขอเมื่อสิ้นสุดการเรียงเส้นฝ้าย จะนำแต่ละเส้นมาม้วนเพื่อให้เกิดลักษณะของการสลับเส้นสำหรับการทอยกเป็นเส้นขึ้นเส้นลง ที่ด้านล่างขวาของเฟือขอ ซึ่งเป็นตำแหน่งสลับของ
ขั้นตอนที่ 4
นำกลุ่มฝ้ายเส้นยืนจากเฟือขอมาขึ้นกี่ แล้วคลี่ฝ้ายเส้นยืนตามลายที่ได้กำหนดไว้ โดยใช้เขี้ยวหมาหรือฟันปลา เป็นตัวช่วยในการสางเส้นฝ้ายแต่ละกลุ่มแต่ละเส้นออกจากกันเส้นด้ายในการทอลายหนึ่ง เพื่อแยกเส้นด้ายในการนำไปสืบฝ้ายกับเขาฟืม
ขั้นตอนที่ 5
หากทอลายเดิมที่เคยทอมา ก็จะนำฝ้ายเส้นยืนใหม่มาต่อกับเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายที่ตัดมาจากการทอครั้งก่อน ที่เรียกว่า เครือ คือ เมื่อทอผ้าเสร็จแล้ว ช่างทอจะตัดผ้าที่ทอแล้วออกจากกี่ โดยคงเหลือเศษผ้าฝ้ายหรือเชิงชายจากการทอให้ติดอยู่กับตะกอและฟืม เพื่อเป็นต้นแบบของลาย หากจะมีการทอลายนั้นในครั้งต่อไป เพื่อให้การสืบต่อลายทำได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าไม่เก็บไว้การเริ่มต้นขึ้นลายใหม่จะมีความยากลำบากมาก ดังนั้นช่างทอจึงต้องเก็บลายไว้ทุกเครือ เนื่องจากเส้นยืนมีความยาวมาก ก่อนทอหรือเมื่อทอไปได้สักระยะหนึ่ง เส้นยืนอาจจะพันกันได้ ดังนั้นจึงต้องคอยคลี่จัดเส้นยืนออกเพื่อไม่ให้พันกัน
ขั้นตอนที่ 6
หลังจากการสืบลายแล้ว สามารถเริ่มกระบวนการทอได้ โดยการเหยียบไม้เหยียบเพื่อยกเขาฟืมขึ้นลง แล้วพุ่งกระสวยสอดเข้าไปในช่องว่าง ระหว่างเส้นยืน ให้เส้นพุ่งพุ่งไปขัดกับเส้นยืนและใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งอัดเรียงกันแน่น แล้วใช้เท้าเหยียบไม้เหยียบให้ตะกอให้เส้นยืนสลับขึ้นลง และพุ่งกระสวยกลับไปกลับมาขัดกับเส้นยืน หลังจากที่พุ่งเส้นพุ่งไป-มาและใช้ฟืมดันให้เส้นพุ่งแน่นหลายๆ ครั้ง ก็จะได้ผ้าทอเป็นผืน แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างต่อไป
เนื่องจากการทอผ้าในปัจจุบันเป็นการทอในเชิงพาณิชย์ การทอแต่ละครั้งจะทอผ้าที่มีความยาวหลายสิบเมตร เส้นยืนที่ใช้จึงต้องมีความยาวหลายสิบเมตรเช่นกัน ดังนั้นหลังจากต่อเส้นยืนแล้ว ก็จะต้องนำเส้นยืนส่วนหนึ่งไปพาดไว้บนคานของกี่ และต้องจัดเส้นยืนไม่ให้พันกันมิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความยุ่งยากระหว่างการทอ
รายละเอียดการทอผ้าฝ้ายเพิ่มเติม (ดาวโหลดไฟล์) : http://www.uploadfile.biz/file/?i=MWEXMEIEIDIEXW
แหล่งที่มา : http://www.banruan.org/NewsInfo.aspx?NewsID=00000001&NewsGroupID=0005