ผ้าทอกับวิถีชีวิตคนไทย

ผ้าทอกับวิถีชีวิตคนไทย
ผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากอาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ผ้าซึ่งมีความสำคัญและสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของมนุษย์มานับตั้งแต่ยุคดั้งเดิมหรือในยุคสังคมบรรพกาล อย่างไรก็ดีหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์ที่อยู่อาศัยในประเทศในยุคเก่าแก่มีน้อยมากทั้งนี้เนื่องจากเครื่องนุ่งห่มผลิตจากเส้นใยผุพังง่าย มักเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จากการศึกษาด้านโบราณคดีในประเทศไทย หลักฐานที่พบคือ ภาพจิตรกรรมบนเพิงผาหรือผนังถ้ำต่างๆหลายแห่ง ภาพเหล่านี้มักแสดงลักษณะมนุษย์กำลังเต้นรำหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ สันนิษฐานกันว่ามนุษย์ในยุคหินใหม่หรือประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว ที่มนุษย์เริ่มรู้จักการปั่นเส้นใยพืชเพื่อนำมาสานทอเป็นผ้านุ่งห่ม หลักฐานที่พบในแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ได้แก่ ลวดลายรอยประทับของเชือกหรือเส้นใยที่บิดเกลียวบนภาชนะดินเผา เศษใบผ้าที่ติดอยู่บนวัตถุทองแดงและเหล็ก และหินทุบผ้าเปลือกไม้และแวดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับปั่นด้าย จากการวิเคราะห์เส้นใยที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้มีกี่สันนิษฐานว่า ผ้าทอที่ผลิตขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ผลิตจากป่านเส้นใยกัญชา ซึ่งเป็นเส้นใยที่ได้จากลำต้นของพืชชนิดหนึ่ง ส่วนการผลิตผ้าจากเส้นในฝ้ายและผ้าไหมนั้นคงเกิดขึ้นในยุคหลังต่อๆมาโดยมีข้อสันนิษฐานว่าการปลูกฝ้ายในไทยนั้นอาจมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย ส่วนไหมนั้นอาจมีต้นกำเนิดมาจากจีน
ผ้าทอในวิถีชีวิตไทย สังคมไทยในอดีต คือ สังคมกสิกรรมที่มีระบบการผลิตแบบเลี้ยงตนเอง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนค้าขายกันทั้งในระดับหมู่บ้าน และการติดต่อที่อยู่ห่างไกลกับชุมชน การทอผ้าเป็นหน้าที่สำคัญของสตรีไทยในอดีต เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐาน มีการนำฝ้ายเพื่อนำมาปั่นและทอเป็นผ้านุ่งห่มจึงเป็นระบบการผลิตที่ควบคู่กันมาแต่โบราณกาล ส่วนในกรณีที่ชุมชนใดไม่สามารถปลูกฝ้าย หรือผลิตผ้าทอเองไม่ได้ ก็มีการแลกเปลี่ยนค้าขายกันระหว่างชุมชนมาช้านานเช่นกัน ผ้าทอไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในการใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เพื่อป้องกันการหนาวเย็นหรือเป็นอาภรณ์ปกปิดร่างกายเท่านั้น การพัฒนารูปแบบการผลิต การย้อมสี และเทคนิคการทอใส่ลวดลายนับเป็นงานศิลปะที่ทำให้ผืนผ้ามีความวิจิตรงดงามเป็นสิ่งสะท้อนค่านิยมวัฒนธรรมและสังคมของผู้ทอหรือผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดีในวิถีชีวิตไทย จะพบว่าผ้าทอผูกพันกับช่วงวัยของชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนตายคือ เมือลูกเกิดมาก็ต้องนอนในเปลผ้าที่แม่ทอ และนอนในเปลไม้ไผ่ที่พ่อสาน สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ ลูก กับการทอผ้า และการจักสาน อันเป็นวิธีการดำรงชีวิตของชาวบ้านไทยมาแต่อดีต อู่ผ้าและอู่ไม้ไผ่สาน คือ งานหัตถกรรมที่แม่และพ่อทำขึ้นมาให้ลูกได้ใช้ในวัยเยาว์ อู่ผ้า ฟูก หรือเบาะนอน ล้วนเกิดจากผ้าฝ้ายที่แม่ต่ำ (ทอ) เย็บเตรียมไว้ ส่วนผ้าอ้อมสำหรับทารกในอดีต คือ เศษผ้าซิ่นเก่าของแม่ที่เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่ม จากการใช้สอยมานาน ทำให้ไม่ระคายเคืองต่อผิวทารกน้อย เมื่อเติบโต ทั้งเด็กหญิงเด็กชาย นอกจากจะได้เรียนรู้อาชีพทำไร่ ทำนา เป็นหลักแล้ว เด็กชายอาจจะได้รับการฝึกหัดจากการจักสาน ในขณะที่เด็กหญิงหัดเรียนทอผ้า ตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ โดยเริ่มจากหัดทอขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การทอผ้าฝ้ายสีขาว ลายขัดสานธรรมดาที่เรียกว่า ผ้าฮำ คือผ้าฝ้ายสีขาว หรือ ผ้าสีหม้อฮ่อมเข้มจนดำ เป็นผืนผ้าที่แม่บ้านแทบทุกครัวเรือนจะทอเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ผ้าเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์ในการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เครื่องใช้สอยต่างๆในบ้าน ตลอดจนนำผ้าขาวไปย้อมสีเหลืองเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับให้ลูกชายได้สวมใส่ในยามบวชเณร ผ้าจึงเป็นสื่อสายใยระหว่างแม่กับลูก และเป็นสื่อแห่งการสะสมสร้างบุญในทางพุทธศาสนาอีกด้วย หญิงสาวที่มีฝีมือในการทอผ้า มักจะเป็นที่หมายปองของชายหนุ่ม ในประเพณีการแอ่วสาวของคนไทยในภาคเหนือ ในอดีตสาวๆจะนั่งอยู่บน เติ๋น หรือส่วนรับแขกของบ้านทำงานบ้านต่างๆ เช่น ปั่นฝ้าย เย็บปักถักร้อย ในขณะที่หนุ่มๆมาเที่ยวหา พูดคุยด้วยบทสนทนาที่เรียกว่า คำเครือ อันเป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะ หากสาวๆพึงพอใจชายหนุ่มผู้ใดก็จะให้ยืม ผ้าต๊ม คือผ้าห่มคลุมตัวกลับไปบ้าน เพื่อว่าคืนต่อไปชานหนุ่มจะได้กลับมาสืบสานต่อความสัมพันธ์ สำหรับผ้าผืนพิเศษที่หญิงสาวมอบให้ชายคนรักมักจะมีลวดลายงดงามอันแสดงฝีมือเป็นเลิศ เช่น ผ้าเช็ด อันเป็นผ้าพาดไหล่ชายหนุ่มเวลาไปวัด ถุงย่ามใบงามหรือ ผ้าต่อง คือ ผ้าขาวม้า อันเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เป็นต้น ผ้าทอจึงมีบทบาทใช้เป็นของฝากหรือเป็นสื่อรักแทนใจระหว่างชายหญิงมาช้านาน เครื่องแต่งกายของชนเผ่าต่างๆในอดีต คือ สิ่งบ่งชี้ถึงวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน รายละเอียดประดับประดาลวดลาย โครงสร้าง รูปแบบจะบ่งบอกให้ทราบถึงถิ่นที่มา วัย สถานภาพของผู้สวมใส่ และเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะในเครื่องแต่งกายของผู้หญิงมักจะมีรายละเอียดของการตกแต่งมากกว่าผู้ชาย คำว่า เครื่องนุ่งห่ม ในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของคนไทยที่ประกอบไปด้วยผ้า 2 ผืน คือ ผ้านุ่ง 1 ผืน และผ้าห่มอีก 1 ผืน แต่ในเวลาอากาศร้อน คนไทยในอดีตคุ้นเคยกับการเปลือยอกซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของทั้งหญิงและชายมีเพียงผ้านุ่งผืนเดียวก็เป็นชุดลำลองอยู่กับบ้านได้ ผ้าที่ใช้ห่มตัวผู้หญิงนั้นเป็นผ้าสไบห่มเฉียง ซึ่งอาจใช้รัดอก หรือใช้คล้องคอก็ได้ ส่วนผู้ชายมีขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่ใช้หุ้มตัวด้วย ส่วนในยามอากาศหนาวทั้งหญิงทั้งชายก็ใช้ผ้าห่มฝ้ายผืนหนาๆ คลุมตัว ผ้านุ่งชายในอดีตมี 2 ขนาด คือ ขนาดสั้น ใช้นุ่งแบบกะทัดรัดในเวลาทำงาน นอกจากนี้ยังเป็นการโชว์ลายสักตรงส่วนขาที่นิยมกันในยุคก่อน หรือในยามงานพิธีก็นุ่งผ้าขนาดยาวแบบโจงกระเบนเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมก็ได้ ผ้านุ่งของผู้หญิง คือ ผ้าซิ่น ซึ่งมีโครงสร้างประกอบด้วยผ้า 3 ส่วน เย็บต่อกัน คือ ส่วนหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น อาจเป็นผ้าพื้นธรรมดา สีแดง สีขาว หรือมีลวดลายก็ได้ ส่วนตัวซิ่นนั้นของผู้หญิงภาคเหนือมักจะมีลายขวาง ส่วนของผู้หญิงอีสานมักเป็นลายตั้ง สำหรับตีนซิ่นนั้นอาจเป็นผ้าพื้นธรรมดาหรือมีลวดลายที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ตัวอย่างเช่น ซิ่นที่สาวๆในภาคเหนือใช้นุ่งในโอกาพิเศษเวลาที่มีงานบุญหรือไปวัดก็คือ ซิ่นตีนจก เป็นซิ่นที่มีลวดลายตรงส่วนตีนซึ่งงดงามเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า ตีนจก เพราะทอด้วยเทคนิคสอดด้ายเส้นพิเศษที่มีสีสันต่างๆลงไปที่เรียกว่า เทคนิคจกในยามที่หญิงสาวออกเรือน จะต้องตระเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับใช้ในครอบครัวใหม่ รวมทั้งเครื่องไหว้พ่อ แม่ ฝ่ายชายไม่ว่าจะเป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ทั้งหลาย หากหญิงสาวไม่สามารถถักทอด้วยตนเอง ก็ต้องหาซื้อเตรียมไว้ให้พร้อม ประเพณีการดำหัว ไหว้บรรพบุรุษ แสดงความกตัญญูรู้คุณของลูกหลานที่มีต่อผู้ใหญ่ ในยามตรุษสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่โบราณผ้าทอผืนงามที่ลูกหลานนำไปดำหัว คือ สื่อแห่งความเคารพรักอย่างหนึ่ง ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ผ้าก็มีบทบาทในการสะสมสร้างบุญ ด้วยการทอผ้าถวายให้พระสงฆ์ได้ใช้ในโอกาสต่างๆ และถวายเป็นพุทธบูชา เช่น ประเพณีการทาน ตง ซึ่งเชื่อว่าจะได้อานิสงค์ผลบุญได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ชาวบ้านไนชนบทบางแห่งมีการถวายผ้าทอแทน ต้นกฐิน ในพิธี ทอดกฐิน โดยเรียกว่าพุทธปัจจัยดังกล่าวตามชนิดผ้าทอที่ทำถวายดังเช่น ต้นหมอน เป็นต้น เส้นฝ้ายสีขาวผูกข้อมือเป็นองค์ประกอบสำคัญพิธีบายสีสู่ขวัญ ผ้าขาว ผ้าแดง ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในพิธีกรรมหลายๆอย่าง เช่น พิธีไหว้ครู พิธีสืบชะตา เป็นต้น แม้กระทั่งพิธีศพ ผู้ตายจะได้รับการแต่งด้วยชุดที่สวยงามที่สุดในชีวิต บรรดาญาติพี่น้องจะนำเสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้บางอย่างใส่ลงไปในโลง ด้วยเชื่อว่าผู้ตายจะได้นำไปใช้ในอีกโลกหนึ่ง ผ้าทอผืนงามพิเศษ ซึ่งอาจเป็นฝีมือของผู้ตายเองหรือเป็นผ้าผืนที่มีผู้มอบให้ด้วยความรักจะใช้เป็นผ้าคลุมโลงศพ ผ้าทอเหล่านี้อาจถูกเผาไปพร้อมกับผู้ตาย แต่ในบางท้องถิ่นเมือพระสงฆ์ได้ทำพิธีบังสุกุลแล้ว ผ้าทอก็จะคืนสู่ญาติหรือลูกหลานได้เก็บไว้ เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ มีการนำมาดำหัวหรือสรงน้ำในวันสงกรานต์ทุกปี อาจกล่าวได้ว่าผ้าบังสุกุล และด้ายสายสิญจน์ก็คือบทบาทของฝ้ายที่เป็นสื่อสุดท้ายระหว่างความเป็นมนุษย์กับผู้ตาย
จากอดีตถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ผ้าทอมีบทบาทสำคัญที่ผูกพันเป็นสายใยระหว่างชีวิตและเส้นใย ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตพื้นบ้านไทยมาช้านาน ในปัจจุบันแม้ว่าสังคมจะแปรเปลี่ยนไปจากอดีตมาแล้วก็ตาม การทอผ้าก็ยังคงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีปรากฏสืบทอดอยู่ในหลายท้องถิ่น ในบางแหล่งก็ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาเทคนิคการทอผลิตออกจำหน่ายจนเป็นอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ วัฒนธรรมการทอผ้าได้พัฒนาจากการผลิตเพื่อใช้นุ่งห่มในวิถีชีวิตพื้นบ้าน ไปสู่การผลิตเพื่อเศรษฐกิจ ผ้าทอพื้นบ้านพื้นเมืองในชนบทต่างๆ ได้รับการเลือกสรรนำกลับมาใช้ใหม่โดยผู้คนในสังคมเมือง การฟื้นฟูค่านิยมการแต่งกายแบบพื้นเมือง การแสวงหาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ได้ทำให้คนไทยหันกลับมานิยมการแต่งกายผ้าทอพื้นเมืองอีกครั้งหนึ่ง ด้วยวัฒนธรรมการแต่งกายอันหลากหลายทั้งแนวสากลอย่างตะวันตกแนวพื้นบ้านพื้นเมืองแบบไทยๆ ผ้าทอพื้นเมืองของไทยก็ได้รับการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการใช้สอนในยุคสังคมปัจจุบัน
แหล่งที่มา : http://sucharinee.multiply.com/journal/item/1